การสมรส การสมรสหมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภริยา ชั่วชีวิตโดยจะไม่เกี่ยวข้องทางชู้สาวกับบุคคลอื่นใดอีก การสมรสประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการคือ
- คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายและอีกฝ่ายจะต้องเป็นหญิง
- การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายหญิงไม่ยินยอม การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
- การอยู่กินกันฉันสามีภริยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
- การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียวเท่านั้น
เงื่อนไขการสมรส และผลของการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขตามกฎหมาย
1. ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้วทั้งสองคน ตามมาตรา 1448 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรานี้มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 1503 ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนได้
2. ชายและหญิงจะต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซี่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1449 การฝ่าฝืนมาตรานี้มีผลให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียนำคดีขึ้นสู่ศาลขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะได้
3. ญาติสนิทจะทำการสมรสกันไม่ได้ ตามมาตรา 1450 กำหนดไว้ 4 ประเภทคือ
- - ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป
- - ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา
- - พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- - พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรานี้มีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ตามมาตรา 1451 แต่เนื่องจากบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมมิใช่ญาติสืบสายโลหิตกันกฎหมายจึงมิได้กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ ดังนั้นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อนี้การสมรสจึงมีผลสมบูรณ์ เพียงแต่ทำให้การรับบุตรบุญธรรมยกเลิกไปโดยปริยาย
5. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ขณะทาการสมรส ตามมาตรา 1452 การฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อนี้มีผลทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามาตรา 1495 โดยไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเหมือนบทบัญญัติเก่า ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้ หากตราบที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลหรือยังไม่มีการยกขึ้นกล่าวอ้างอยู่ตราบใดการสมรสนี้ยังคงมีผลสมบูรณ์อยู่ตราบนั้น
6. ชายและหญิงต้องยินยอมเป็นสามีภรรยากัน ตามมาตรา 1458 การสมรสที่ปราศจากความยินยอมเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 อนึ่ง มาตรา 1458 ได้บัญญัติให้ชายหญิงแสดงความยินยอมเป็นสามีภรรยากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน ดังนี้จึงไม่อาจตั้งตัวแทนไปจดทะเบียนสมรสได้ หากมีการตั้งตัวแทนแล้วนายทะเบียนรับจดให้การสมรสนั้นก็จะเป็นโมฆะเช่นกันเพราะเป็นการสมรสที่ปราศจากความยินยอม
7. หญิงหม้ายจะทำการสมรสได้ต่อเมื่อล่วงพ้นเวลา 360 วัน นับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิมตามมาตรา 1453 เว้นแต่ - ได้คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น – สมรสกับคู่สมรสเดิม – มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้มีครรภ์ – มีคำสั่งศาลให้ทำการสมรสได้ การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรานี้กฎหมายไม่ได้กำหนดผลไว้ จึงทำให้การสมรสนั้นมีผลสมบูรณ์ บุตรที่ เกิดภายใน 310 วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง มาตรา 1537 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีใหม่
8. ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา หรือ ผู้ปกครอง ตามมาตรา 1454 ซึ่งบัญญัติให้นำ 1436 มาใช้ ดังนั้นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรานี้จึงมีผลเป็นโมฆียะ
(http://natjar2001law.blogspot.com/2...)